top of page

ประวัติ วัดศาลเจ้า จ.ปทุมธานี (ฉบับเต็ม)

  • Writer: by TAP special team
    by TAP special team
  • Sep 6, 2017
  • 1 min read


วัดศาลเจ้า ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี


วัดศาลเจ้าจะอยู่ติดกับวัดมะขามมีถนนเดินติดต่อกันได้


วัดศาลเจ้า ถือว่าเป็นวัดโบราณได้วัดหนึ่งเพราะมีอายุนับถึงวันที่ผมเขียนปี ๒๕๔๕ ก็มีอายุนานถึง ๒๒๕ ปีแล้ว ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลยทีเดียว แต่พอมาอ่านอีกตำนานหนึ่งชักจะไม่ตรงกัน แต่ยังคงความโบราณไว้ คือบอกว่าวัดศาลเจ้ามีอายุนานร่วมสามร้อยปี เป็นวัดที่สร้างขึ้นในตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี จึงต้องเล่าเพื่อประกอบการสันนิษฐานไว้ทั้ง ๒ ตำนาน

ตำนานแรกเล่าว่า เพราะวัดตั้งอยู่ที่ปากคลองศาลเจ้า จึงได้นามวัดว่า วัดศาลเจ้า ตำนานนี้บอกด้วยว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐ และวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๓ ภายในวัดมีอุโบสถ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๘ เมตร ลักษณะทรงไทย มีหอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง วิหารพระนอน เจดีย์มอญ

ส่วนอีกตำนานหนึ่งที่เล่าต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน กล่าวไว้ว่า วัดศาลเจ้าสร้างเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยในยุคนั้นมี "เจ้าน้อยมหาพรหม" เป็นบุตรเจ้าเมืองทางฝ่ายเหนือ เป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์มาก เป็นต้นว่าสามารถเรียกจรเข้ให้ขึ้นจากน้ำได้ ถากหน้าแข้งทำเป็นฟืนหุงข้าวได้

ครั้งหนึ่งเจ้าน้อยมหาพรหม ได้ต่อแพแล้วล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา แต่จะไปสิ้นสุดที่แห่งหนตำบลใดไม่มีใครทราบ ทราบว่าในการล่องแพลงมาครั้งนี้ เจ้าน้อยมหาพรหมได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากการล่องแพครั้งนี้ได้พบวัดใด พบพระภิกษุองค์ใดที่มีวิชาไสยศาสตร์เหนือกว่าเจ้าน้อยแล้ว เจ้าน้อยจะรื้อแพที่ล่องมานี้ แล้วถวายสร้างวัด สร้างศาลา

เมื่อล่องแพลงมาจนถึงแม่น้ำอ้อม ได้พักอยู่ที่ปากแม่น้ำอ้อม (เชียงราก) ตรงบริเวณนั้นมีวัดอยู่วัดหนึ่งคือ วัดมะขามใน หรือวัดมะขามน้อย และตรงใกล้ ๆ กับวัดมะขามมีเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง ชื่อ "พระอาจารย์รุ" เป็นเชื้อสายรามัญ มีกุฏิอยู่เป็นเอกเทศไปปะปนกับหมู่สงฆ์ในวัด

พระอาจารย์รุ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาไสยศาสตร์มาก มีผู้คนนับถือแยะ สามารถเสกใบมะขามเป็นตัวต่อได้ เสกกิ่งไม้สด ๆ ให้ติดไฟได้ และยังสามารถสะกดจิตบุคคลให้ทำตามคำสั่งได้อีก

เมื่อเจ้าน้อยมหาพรหม ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระอาจารย์รุ จึงไปทดสอบวิชา เรียกว่าไปขอลองวิชานั่นแหละ เป็นการขอลองวิชากับอาจารย์รุผู้เกรียงไกรว่างั้นเถอะ ครั้งแรกได้ลองวิชาด้วยการถากหน้าแข้งของพระองค์เพื่อทำเชื้อฟืนหุงข้าว แต่พอได้ฟืนมาแล้วกลายเป็นเจ้าน้อย ทำให้เห็นว่าที่มีอาคมทำเหมือนถากหน้าแข้งให้เป็นฟืนได้นั้น ความจริงก็ถากไม้จริง ๆ ไม่ใช่หน้าแข้ง แต่เจ้าน้อยเวลาทำก็คงจะบังตาคนอื่นเช่นกันจึงเห็นกันเป็นเช่นนั้น พระอาจารย์รุจึงย้อนรอยของเจ้าน้อยกำบังตาเจ้าน้อยเสียเอง ให้เห็นว่าท่านกำลังถากอยู่นั้น คือการถากหน้าแข้งจริงไปถากเอาเสากุฏิของพระอาจารย์รุ ท่านอาจารย์รุจึงลองวิชาให้ดูบ้าง เอาแค่ง่าย ๆ คือเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อ ไล่ต่อยพวกบ่าวไพร่ของเจ้าน้อยมหาพรหม หน้าตาปูดไปตาม ๆ กัน เรื่องเสกใบมะขามเป็นตัวต่อนี้ ผมเคยได้ยินมานานแล้วว่าหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่จังหวัดชัยนาท (กรมหลวงชุมพร ฯ นับถือเป็นอาจารย์) ท่านสามารถเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อได้

เจ้าน้อยมหาพรหมพบเช่นนี้ก็หมดทิฐิ จึงเกิดความเคารพนับถือเลื่อมใสในตัวพระอาจารย์รุเป็นอย่างยิ่ง เห็นว่าเป็นเกจิอาจารย์ที่มีความรู้ จึงเสด็จขึ้นจากแพ เพื่อขึ้นไปนมัสการพระอาจารย์รุ

ในขณะที่เจ้าน้อยมหาพรหมก้าวเท้าข้ามธรณีประตูเข้าไปในกุฏิพระอาจารย์รุนั้น ก็เกิดเหตุแสดงให้เห็นอิทธิฤทธิ์ของพระอาจารย์รุ คือเจ้าน้อยไม่สามารถก้าวข้ามธรณีประตูกุฏิ ไม่สามารถเดินหน้าถอยหลังได้อีกเหมือนถูกสะกดนิ่งอยู่ตรงนั้น ทำให้ต้องยืนนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาพอสมควร เจ้าน้อยก็รู้ว่าอาจารย์รุลองวิชาเข้าให้แล้ว ก็ได้แต่ยืนนิ่งอยู่ ตราบจนกระทั่งพระอาจารย์รุเรียกให้เข้าพบได้ คือเป็นการอนุญาตให้เข้าพบ เจ้าน้อยมหาพรหมจึงสามารถก้าวข้ามธรณีประตูและเดินเข้ากุฏิ ไปนมัสการพระอาจารย์รุได้

เจ้าน้อยมหาพรหมได้กราบนมัสการพระอาจารย์รุ  และบอกจุดประสงค์ว่าจะทำการสร้างวัดและศาล ขอมอบแพที่โดยสารมาสร้างกุฏิให้ใหม่ พร้อมกันนี้ก็จะสร้างศาลาการเปรียญให้อีก ๑ หลังด้วย

ต่อมาการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวก็เสร็จเรียบร้อย จึงตั้งชื่อวัดว่า "วัดศาลเจ้า" ซึ่งคำว่า "ศาล" นี้คงหมายถึงศาลที่เจ้าน้อยได้สร้าง ส่วนคำว่าเจ้า น่าจะมาจากคำนำหน้าของผู้สร้างคือ "เจ้าน้อย" รวมเรียกว่า วัดศาลเจ้า (วัดที่เจ้าสร้าง)

ด้วยความเลื่อมใส หลังจากนั้นเจ้าน้อยมหาพรหมก็จะเสด็จมายังวัดศาลเจ้าเสมอ และได้สร้างอุโบสถให้ ๑ หลัง สร้างพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๑ วา ถวายไว้อีก ๑ องค์ ได้ทำการประดิษฐานไว้ที่หน้าอุโบสถ ต่อมาได้มีการย้ายพระพุทธรูปไปไว้ที่ศาลาการเปรียญ


ภายในวัดศาลเจ้ามีปูชนียสถานที่สำคัญคือ 1.อุโบสถซึ่งเจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายในสมัยพระอาจารย์รุ ได้ทำการบูรณะใหม่ในเวลาต่อมา นับว่าเป็นอุโบสถที่สวยงามมาก 2.เจดีย์แบบรามัญ ซึ่งงดงามตามแบบเจดีย์รามัญ และหาชมได้ยาก 3.พระพุทธรูปที่เจ้าน้อยมหาพรหมสร้างไว้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ

น้ำศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดศาลเจ้า สาเหตุที่เชื่อกันมาว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตรงหน้าวัดศาลเจ้านั้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันความเชื่อนี้ไปเชื่อว่า เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้า ที่มีเจ้าพ่อนักรบถือทวนประดิษฐานอยู่ เพราะคนทั่วไปไม่มีใครทราบประวัติมาก่อนว่า ความศักดิ์สิทธิ์เป็นเพราะ เมื่อก่อนนี้หน้าวัดศาลเจ้าในลำน้ำเจ้าพระยานี่แหละจรเข้ชุกชุมมาก และทำร้ายผู้คนที่ผ่านไปมาเป็นประจำ เมื่อเจ้าน้อยซึ่งเป็นผู้มีวิชาในการปราบจรเข้ได้มาพบ เจ้าน้อยจึงใช้สมาธิร่ายเวทย์มนต์จนจรเข้เชื่อง และสถานที่ลองวิชาระหว่างเจ้าน้อยกับพระอาจารย์รุ ก็ทดลองกันตรงหน้าวัดนี่แหละ จึงถือว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ เรือแพผู้คนผ่านหน้าวัดจะวักน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ลูบหัวเรือ ลูบหน้ารดหัวของตัวเอง เพราะถือว่าเปรียบประดุจน้ำมนต์


ในพิธีสำคัญๆ ก็จะมีการตักน้ำหน้าวัดศาลเจ้าไปใช้ในพิธีสัจจปานกาล หรือ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เช่น ในสมัยของพระอารักษ์ประชาราฎร์ หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ พระยาพิทักษ์ทวยหาญ เป็นเจ้าเมืองปทุมธานี ได้นำน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดนี้ ไปประกอบพิธีในอุโบสถวัดบางหลวง โดยเอาน้ำใส่ขันทองเหลืองขนาดใหญ่ ต่อจากนั้นเจ้าเมืองก็จะโอมอ่านโองการแช่งน้ำ เสร็จแล้วคณะกรรมการเมืองและข้าราชการ ก็จะกล่าวพิธี คำสัตย์ปฏิญาณ จบแล้วดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาโดยทั่วกัน


Comments


bottom of page